เทศบาลตำบลแม่เมาะร่วมโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำห้วยคิงตอนบนปีที่ 2 สร้างจิตสำนึกอนุรักษ์หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนให้เกิดความยั่งยืน

กฟผ.แม่เมาะ ผนึกกำลังชุมชนและส่วนราชการ
เดินหน้าโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำห้วยคิงตอนบนปีที่ 2 สร้างจิตสำนึกอนุรักษ์หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนให้เกิดความยั่งยืน 🌳🌳🌳🌳
.
วันนี้ (26 กันยายน 2562 ) ณ อ่างเก็บน้ำห้วยคิงตอนบน ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง นายนิมิตร ผดุงศิลป์ไพโรจน์ นายอำเภอแม่เมาะ เป็นประธานเปิดงาน “ปลูกต้นไม้ รักษ์แผ่นดินป่าห้วยคิง ตามแนวศาสตร์พระราชา ปีที่ 2” ภายใต้โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำห้วยคิงตอนบน หมู่บ้านเมาะหลวง หมู่ 8 โดยมี นายนิกูล ศิลาสุวรรณ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายอำพล กิติโชตน์กุล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ นายชูชีพ บุญนาค นายกเทศมนตรีตำบลแม่เมาะ ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.แม่เมาะ ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง ผู้แทนหน่วยงานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้แทนหน่วยงานกรมป่าไม้ ผู้นำชุมชน ผู้แทนเยาวชนอำเภอแม่เมาะ นักเรียนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม
.
ป่าต้นน้ำห้วยคิงตอนบนเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญในพื้นที่ตำบลแม่เมาะ มีพื้นที่ประมาณ 5,717 ไร่ น้ำจากป่าต้นน้ำห้วยคิงตอนบนถูกนำไปใช้เป็นน้ำประปาเพื่ออุปโภคบริโภคให้กับราษฎร ต.แม่เมาะ จำนวน 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเมาะหลวง บ้านเวียงหงส์ล้านนา บ้านใหม่ห้วยรากไม้ บ้านใหม่นาแขม บ้านเวียงสวรรค์ และบ้านใหม่มงคล ที่ผ่านมาป่าต้นน้ำดังกล่าวได้ทรุดโทรมเนื่องจากขาดการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างเป็นระบบ ต่อมาอำเภอแม่เมาะได้แต่งตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำห้วยคิงตอนบนขึ้นเพื่อพื้นฟูและคืนสมดุลธรรมชาติให้กับป่าต้นน้ำ ผ่านการนำศาสตร์พระราชมาประยุกต์ใช้ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง กฟผ. แม่เมาะ คณะกรรมการบ้านเมาะหลวง หมู่ 8 ต.แม่เมาะ ส่วนราชการ อ.แม่เมาะ, สวนรุกขชาติพระบาท สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท และ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ไม้ภาคเหนือ อ.งาว กรมป่าไม้ โดยโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำห้วยคิงตอนบน บ้านเมาะหลวง หมู่ 8 ดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ ปี 2561-2564 เป็นการปลูกป่าตามแนวทางศาสตร์พระราชาบนพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ มีพันธุ์ไม้ทั้งสิ้น 19 ชนิด ได้แก่ สัก ไทร เต็ง สีเสียด ยางนา มะแหน ประดู่ แคบ้าน ไผ่ตง กระท้อน ขนุน ตะขบ ฝรั่งพื้นเมือง มะขาม มะขามเทศ มะเฟือง มะยม ยอบ้าน และมะเกี๋ยง จำนวนกว่า 500 ต้น เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ แก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ป่า ตัดไม้ทำลายป่า และไฟป่า ตลอดจนพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ตลอดจนสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้แก่ชุมชนหมู่บ้านโดยรอบพื้นที่ป่าต้นน้ำห้วยคิงตอนบน

 

Related posts