ประวัติศูนย์วัฒนธรรมอำเภอแม่เมาะ

ประวัติศูนย์วัฒนธรรมแม่เมาะ

กองการศึกษา ฯ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเข้าใช้ประโยชน์ บำรุงดูแลรักษาอาคารศูนย์วัฒนธรรมแม่เมาะ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 และได้ดำเนินงานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 289 ตามอำนาจหน้าที่บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น จึงได้จัดทำประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์วัฒนธรรมแม่เมาะ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2560 เพื่อให้การดำเนินงานของศูนย์วัฒนธรรมฯ เน้นตามความมุ่งหมายและดำเนินงานวัฒนธรรม ส่งเสริมศาสนาศิลปวัฒนธรรมของชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ

คณะกรรมการศูนย์วัฒนธรรม ได้ดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ต่อเนื่องมีการประชุมปรึกษาหารือ เรื่องการพัฒนางานทางด้านวัฒนธรรมแบบล้านนา และสืบสานประเพณีวิถีชีวิตของคนแม่เมาะ โดยพัฒนาให้เกิดคุณค่า รักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม  ซึ่งอาคารศูนย์วัฒนธรรมแม่เมาะชั้นบนประดิษฐานพระเจ้าสามองค์   เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนคนแม่เมาะเคารพกราบไหว้บูชา  ทางคณะกรรมการฯจึงประชุมการทำงานโดยเสนอของบประมารจากเทศบาลตำบลแม่เมาะ   สรุปความคิดเห็นและลงมติให้วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังหลังพระเจ้าสามองค์ และตกแต่งบริเวณรอบชั้นอาคาร เนื้องานเป็นภาพวาดของพระเจ้าสามพระองค์ปิดทองน้ำแต้ม เป็นงานฝีมือเฉพาะทาง  โดยประสานผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะล้านนาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงใหม่  มาให้ความรู้และออกแบบตกแต่ง

คณะกรรมการฯ ได้กำหนดแผนงานการดำเนินงานของศูนย์วัฒนธรรม เป็นรายปีงบประมาณเนื่องจากต้องของบประมาณจากเทศบาลตำบลแม่เมาะ   ในการพัฒนางานของศูนย์วัฒนธรรมฯ โดยชั้นด้านล่างอาคารมีห้องสำหรับการจัดนิทรรศการ  เป็นแหล่งเรียนรู้โดยจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ของคนแม่เมาะ แสดงผลงานด้านต่างๆ ให้แก่ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมศูนย์วัฒนธรรม และได้ขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงานเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคชุมชน ที่มีข้อมูลต่างๆเพื่อช่วยกันสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 – 2564  ได้เสนอโครงการขอสนับสนุนงบประมาณ ในการจัดสร้างแหล่งเรียนรู้ จัดทำห้องพิพิธภัณฑ์ในการจัดเก็บองค์ความรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่นของแม่เมาะ ได้มีการพิจารณาจากคณะกรรมการศูนย์วัฒนธรรมแม่เมาะ  ให้ดำเนินงานดังต่อไปนี้

ห้องที่ 1  ชื่อ  ห้องเล่าขานตำนาน  เรื่องราวแม่เมาะในอดีต มีพระราชประวัติของรัชกาลที่ 7 และรูปภาพเมืองเก่า ของเก่าแก่โบราณเมืองเมาะเป็นภาพถ่ายจากคนที่สะสมเก็บไว้มาร่วมให้ข้อมูล

ห้องที่ 2  ชื่อ  ห้องสืบสานวัฒนธรรม   เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนแม่เมาะ ภายในห้องเป็นเรื่องราวด้านวัฒนธรรมประเพณี   แห่ช้างผ้า  นกกิ่งกะลา   ฟ้อนโต  กลองปูจา  ฟ้อนกลองมองเซิง   กลองก้นยาว   การบวชลูกแล้ว    การแต่งกายไทใหญ่ (เงี้ยว)   ส่วนพื้นที่ผนังเชื่อมต่อทางเดินระหว่างห้องที่  2  ไปยังห้องที่ 3  มีการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังประเพณีการแห่ผ้าช้าง และการทอผ้าพื้นเมืองโดยภูมิปัญญาท้องถิ่นคนแม่เมาะเป็นผู้ถ่ายทอดตามภาพ และเป็นจุดเช็คอินในการถ่ายภาพได้อีกด้วย

ห้องที่ 3  ชื่อ  ห้องภูมิหลังท้องถิ่น   นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่น  ด้านวรรณกรรมภูมิปัญญาแต่ละด้าน  แต่ละคน พร้อมรายละเอียด   มีการรวบรวมสิ่งของโบราณที่เป็นเครื่องมือทำมาหากินการเกษตร   การล่าสัตว์   กี่ทอผ้า   จำลองวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในอดีต   ซึ่งได้รับสิ่งของบริจาคประชาชนแม่เมาะ

ห้องที่ 4   ชื่อ  ห้องแดนดินเมืองเมาะ  เป็นเรื่องราวเชื่อมโยงจากคนสมัยในอดีตใช้ชีวิตอย่างไร  และปัจจุบันมีวิถีชีวิตแตกต่างกันอย่างไร  มีการจำลองแบบโรงไฟฟ้าเหมืองแม่เมาะในปัจจุบัน   มีสถานที่แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติของอำเภอแม่เมาะ   การเล่าเรื่องราวผ่านการสื่อสารแบบฉบับการ์ตูน   ออกแบบให้ทันสมัยเหมาะกับปัจจุบันมากขึ้น เป็นการสร้างแรงจูงใจในคนรุ่นหลังได้อ่านและรับรู้ผ่านเรื่องราวของคนแม่เมาะ

ในปัจจุบัน  พ.ศ. 2564  ศูนย์วัฒนธรรมแม่เมาะ (พิพิธภัณฑ์แม่เมาะ)   เทศบาลตำบลแม่เมาะได้พัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ โดยก่อสร้างศาลารายรอบอาคารให้มีความงดงามตระการตา  สวยงาม  ส่งผลถึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  ระดับอำเภอและจังหวัดลำปาง  ต่อไป